มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำร้อนระอุอยู่
ในปี 2526 กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง
ได้เริ่มโครงการตกแต่งวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2529 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2530
ยกระดับฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน ตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอแจ้ห่ม และตำบลบ้านคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 370,000 ไร่ หรือ 592 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 58 ของประเทศ
ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ได้มีประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย และป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และตำบลหัวเมือง ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ หรือ 176 ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของสันเขาผีปันน้ำตะวันตก ทอดตัวตามแนวทิศเหนือสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรื่อยไปทางทิศใต้จนถึงอำเภอแม่พริก ซึ่งเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 300-2,031 เมตร มียอดเขาสูงที่สุดคือ ดอยลังกา อีกทั้งยังประกอบด้วย ดอยสันผักกิ้ง ดอยชายแดน ดอยแม่กา ดอยตะไคร้ ดอยต๋ง ดอยวังหลวง ดอยห้วยหลอด ผาหลักไก่ ม่อนทางเก้า ดอยแม่บึก ม่อนจวง ดอยแม่มอน และดอยแปเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำวัง ประกอบด้วยลำน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมากได้แก่ น้ำแม่หมี น้ำแม่ต๋อม น้ำแม่สอย น้ำแม่มอน น้ำแม่ปาน น้ำแม่ฮะ น้ำแม่ปอม น้ำแม่บึง น้ำแม่สุ่ย และน้ำแม่ค่อม เป็นต้น และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญเป็นสาขาของแม่น้ำวัง เช่น แม่น้ำสอย ห้วยแม่กา ห้วยแม่ปาน
นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินเป็นแหล่งบ่อน้ำร้อน บริเวณกว้างถึง 2,400 ตารางเมตร มีน้ำร้อนผุดจากบ่อเล็กถึง 9 บ่อ เต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ มีอัตราการไหลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีอัตราการไหลประมาณ 15 ลิตร/วินาที อุณหภูมิระหว่าง 39-47 องศาเซลเซียส
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จัดอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง ประกอบด้วย ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน และจะมีระยะฝนทิ้งช่วงระหว่างต้นเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างจะร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 26 องศาเซลเซียส แต่โดยปกติอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดปี
ป่าของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถจำแนกออกได้เป็น
- ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามสันเขาและตามหุบเขาในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ โดยทั่วไปทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ประกอบด้วย สัก แดง ประดู่ แสมสาร กระบก กว้าว เก็ดแดง ติ้ว ซ้อ ปอกระสา ฯลฯ จะพบไผ่กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ ไผ่หอบ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยที่พบมีกล้วยนวล กระชาย เล็บเหยี่ยว กะลังตังช้าง เครือออน เป็นต้น
- ป่าเต็งรัง พบอยู่ตามเชิงเขาไหล่เขาทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะกอกป่า แดง ประดู่ อ้อยช้าง กระโดน มะเกิ้ม โมกมัน มะค่าแต้ ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบได้แก่ หญ้าเพ็ก โจด และปรงป่า
- ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป มีอยู่เป็นหย่อมๆ บริเวณตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ไก๋ ทะโล้ เหมือด จำปาป่า ยางเหลือง ตะไคร้ต้น ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่ศก โชนผี และพืชในวงศ์ขิงข่า
- ป่าสนเขา ขึ้นเป็นหย่อมๆ บริเวณแนวสันเขา ไหล่เขา ที่มีความสูงมากกว่า 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ก่อ จำปีป่า หว้า มะขามป้อมดง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้า หนาด สาบหมา และพืชในวงศ์ข่า
- ป่าดิบชื้น พบอยู่ในบริเวณหุบเขา ตามริมห้วยลำธารต่างๆ บริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง พันธุ์ไม้เด่นที่สำคัญ ได้แก่ ยาง มะหาด มะไฟ อบเชย ชมพู่ป่า สะท้อนรอก ลำไยป่าเครือ คอแลน สะตอ ยมป่า พระเจ้าห้าพระองค์ พืชพื้นล่างที่พบเป็นพวก ไผ่เฮียะ เฟิน หวาย และพืชในวงศ์ขิงข่า
เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด
สัตว์ป่าที่พบเห็นในเขตอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วย เก้ง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เสือดาว หมีควาย ชะนีมือขาว ลิงลม เม่น หมูหริ่ง ชะมด พังพอน ลิ่นพันธุ์ชวา กระต่ายป่า กระรอกหลากสี กระแต อ้นใหญ่ หนูฟานเหลือง ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก ไก่ป่า นกเขาเปล้า นกบั้งรอกใหญ่ นกแอ่นพันธุ์หิมาลัย นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกโพระดกคอสีฟ้า นกนางแอ่นบ้าน นกพญาไฟใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกเขียวคราม นกกินแมลงอกเหลือง นกกางเขนดง นกจับแมลงจุกดำ นกสีชมพูสวน ตะพาบน้ำ จิ้งจกดินลายจุด กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนบ้าน งูสามเหลี่ยม งูลายสอใหญ่ งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว อึ่งกรายตาขาว คางคกบ้าน เขียดจะนา กบหนอง ปาดบ้าน และอึ่งขาดำ เป็นต้น
ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี จะมีจักจั่นป่ามารวมตัวกันบริเวณบ่อน้ำร้อน ซึ่งเชื่อกันว่าจักจั่นป่าเหล่านี้มาดื่มน้ำแร่
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ดังนี้
- จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) ระยะทาง 58 กิโลเมตร ผ่านอำเภอแจ้ห่ม
เลี้ยวซ้ายสามแยกบ้านปงคอบ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1287 (แจ้ห่ม-เมืองปาน) ระยะทาง 6 กิโลเมตร
เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
- จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1039 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาที่สามแยกบ้านน้ำโท้ง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กม.
เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร
เลี้ยวซ้าย ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน)อีกประมาณ 11 กิโลเมตร
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
- จากจังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ 25 กิโลเมตร
แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 118 ผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร
ถึงสามแยกบ้านแม่ขะจานแล้วเลี้ยวซ้ายเข้ามา 10 กิโลเมตร
แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) ระยะทาง 60 กิโลเมตร
ถึงสามแยกบ้านปงคอบเลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) อีกประมาณ 11 กิโลเมตร
เลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
หนาวนี้เชิญชวนมาท่องเที่ยวที่ลำปางกันครับ
"ลำปางหนาวมาก"
Cr.Manuspee
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น