วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

" บ้านคมสัน " ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2460 พร้อมกับสร้างสะพานรัษฎาภิเศก

 " บ้านคมสัน " ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2460 พร้อมกับสร้างสะพานรัษฎาภิเศก

เป็นของคหบดีชื่อนายน้อย คมสัน เป็นบุตรของนายฮุดเอ่ง กับนางลูกอินทร์ คมสัน เป็นคน กทมฯ ย้ายมาค้าขายใน จ.กำแพงเพชร และให้กำเนิดนายน้อย คมสัน ณ จังหวัดนี้ ต่อมานายฮุดเอ่ง จึงได้พาครอบครัวอพยพมาค้าขายอยู่ในจังหวัดลำปาง
มีพี่น้องร่วมกัน 4 คนคือ
1.นายน้อย คมสัน
2.นายใหญ่ คมสัน
3.นางละม่อม
4.นายยอด คมสัน
และมีพี่ร่วมบิดา 1 คน คือหลวงบริบาลชวกิจ และน้องร่วมบิดาอีก 3 คน

สมรสกับ นางลางสาด คมสัน ( ฟองมณี ) เมื่อปีพ.ศ.2451
- นางลางสาด คมสันหรือเรียกสั้นๆว่า แม่นาย เกิดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2436 ที่บ้าน ถ.ตลาดเก่าลำปาง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2517 เวลา 14.40 น.
เป็นบุตรของนายชุน นางลูกพลับ ฟองมณี มีร้านค้าผ้าและขายของเบ็ดเตล็ด
มีพี่น้องร่วมกัน 5 คนคือ
1.นางลูกซัด เสาจินดารัตน์ (ฟองมณี)
2.น.ส.แพ ฟองมณี
3.นายเสาฟอง ฟองมณี
4.นางลาดสาด คมสัน ( ฟองมณ๊ )
5.น.ส.ทองม้วน ฟองมณี

บ้านคมสัน โดยใช้วิศวกรชุดเดียวกับที่สร้างสะพานรัษฎาภิเศก ซึ่งเป็นเพื่อนฝรั่งจากบริษัททำไม้ช่วยออกแบบให้ แล้วใช้ช่างชาวจีนเซี่ยงไฮ้ที่ขึ้นชื่อเรื่องฝีมือทางด้านช่างมาทำการก่อสร้าง ส่วนวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ ได้นำมาจากกรุงเทพฯ โดยขนส่งบรรทุกมาทางรถไฟและเรือกลไฟ เป็นบ้านปูนหลังแรกในย่านถนนตลาดจีน

นายน้อย คมสัน เติบโตมาในคุ้มหลวงของพลตรี เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๓ ( องค์สุดท้าย ) เนื่องจากนางลูกอินทร์ คมสัน มารดาของนายน้อยเป็นครูสอนละครรำในคุ้มหลวงให้แก่บรรดาหม่อมของเจ้าหลวงลำปาง
เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต ทรงกรุณาส่งนายน้อยให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในโรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพและโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมๆกับเจ้าลูกหลานอีกหลายคน เช่น พ.อ.พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) เจ้าหนูน้อย ณ ลำปาง โยมบิดาของหลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นต้น
หลังจากจบการศึกษาแล้ว เจ้าพ่อบุญวาทย์วงษ์มานิตย์โปรดให้นายน้อยเข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนบุญทวงค์ ( โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยในปัจจุบัน ) และนายน้อยยังได้ไปเป็นครูพิเศษสอนที่โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซีอีกด้วย หลังจากเลิกอาชีพครู นายน้อย คมสัน ได้ทำธุรกิจหลากหลายประเภท เช่นโรงฟอกหนังแห่งแรกของประเทศไทย ทำป่าไม้ ( ที่มาของไม้สักทองที่ใช้ทำบ้านกันตะบุตร นครลำปาง ) โรงสีข้าวที่ อ.ห้างฉัตร โรงสีข้าวศิรฺพัฒน์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ในปี 2495 โรงเลื่อยจักรพานพิพัฒน์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ในปี 2500 โรงงานผลิตน้ำแข็ง และ เป็นตัวแทนขายรถบรรทุก รถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต ของบริษัท Butler and webster เป็นต้น จึงมีฐานะร่ำรวยคนหนึ่งในย่านนี้

นายน้อย คมสัน เป็นคนมีจิตใจเมตตา ได้บริจาคเงินสร้างอาคารในโรงพยาบาลเมืองลำปาง ห้องอาหารโรงพยาบาลแวนแซนวูดร์ สร้างตึกอำนวยการโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี ห้องประชุมโรงเรียน




กรุงเทพคริสเตียน สมทบทุนสร้างตึกเสนารักษณ์ ค่ายสุรศักดิ์มนตรี และทำนุบำรุงวัดวาอาราม เช่น บูรณะปิดทองมณฑปพระเจ้าล้านทองที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ทำบุญกุศลอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของท่าน
นายน้อย คมสัน เกิดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2432 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2523 สิริอายุได้ 91 ปี ได้พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเกาะวาลุการามลำปาง เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มิ.ย. 2523

คหบดีนายน้อย คมสัน และ นางลางสาด คมสัน ( ฟองมณี )
มีบุตรและธิดา 2 คน คือ
1. นายแถม คมสัน สมรสกับ นางทองอินทร์ คมสัน (ลูกเจ้าของโรงสีข้าวพะเยา)
มีบุตร 3 คนคือ
- นายขวัญพงษ์ คมสัน สมรสกับนางนัยนา คมสัน ( วิมุกตนันท์ )
นาย ขวัญพงษ์ คมสัน เป็นวิศวกร ใบอนุญาตเลขที่ ภย.1544 ระดับภาคีวิศวกร สาขาโยธา เจ้าของบ้านคมสันคนปัจจุบัน
- นายธงชัย คมสัน สมรสกับ นางนริยา คมสัน (คนกรุงเทพฯ)
- นายกรองเกียรติ คมสัน สมรสกับ นางศิรประภา คมสัน (คนกรุงเทพฯ)
2. นางบุญเตี่ยม คมสัน หรือ นางสุพิทย์ กันตะบุตร
สมรสกับนายบรรฦา กันตะบุตร (เขย) บุตรของพระยาราชวรัยการ (บู่ กันตะบุตร) เจ้าของบ้านกันตะบุตร นครลำปาง
เกิดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2454 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2539
มีบุตรและธิดา 4 คน คือ
1.นายโกวิต กันตะบุตร สมรสกับนางเฉลิมศรี วัฒนานิกร
2.นายกิตติ กันตะบุตร ถึงแก่กรรม
3.นางนิภา วินิจ ( กันตะบุตร ) สมรสกับ นายพัลลภ วินิจ
4.นายพิทยากร กันตะบุตร
ปี พ.ศ. 2536 นางสุพิทย์ กันตะบุตร ( นางบุญเตี่ยม คมสัน ) ตั้งมูลนิธิกองทุนนายน้อย-นางลางสาด คมสัน โดยใช้เงินสดจำนวนเงิน 2 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมงานต่างๆของโรงพยาบาลเมืองลำปาง

บ้านคมสัน เป็นเรือนปั้นหยาจั่วตัดปลาย 4 มุข เป็นเรือนปั้นหยาที่มีการพัฒนาขึ้นมา โดยเป็นกลุ่มที่มีการตกแต่งมากที่สุดในบรรดาเรือนปั้นหยาทั้งหมด นิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ 7-8 เดิมทีตัวบ้านทาสีเทาอ่อน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์แบบหางว่าว แต่ทุกวันนี้ตกทอดมาถึงรุ่นหลานคือ นายขวัญพงษ์ คมสัน ได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมทาสีเหลืองครีมใหม่จนสวยงามสะดุดตา
บ้านคมสัน เป็นอาคารพักอาศัย ค.ส.ล.ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ความสูงของใต้ถุนบ้านหลังนี้ ถูกออกแบบให้อยู่ในระดับเดียวกับพื้นสะพานรัษฎาภิเศก น้ำจึงไม่เคยท่วมขึ้นไปถึงตัวบ้านเลยสักครั้ง ปัจจุบันบางส่วนของใต้ถุนมีการต่อเติมเป็นห้องทำงาน ห้องพักผ่อน ห้องนั่งเล่น และห้องน้ำ-ส้วม ช่วงกลาง 2 ช่องเสายังเปิดใต้ถุนโล่งทะลุถึงด้านหลังอาคารได้เหมือนเดิม ไม่มีการกั้นผนัง เสาค.ส.ล. มีค้ำยันรับพื้นรับผนังทั้ง 2 ด้าน มีฝ้าเพดานปิดใต้ถุนด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบทาสี ทำขึ้นใหม่

หน้าบ้าน มีบันไดขึ้นด้านหน้าพร้อมชานพัก 1 บันได เปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม มีบันไดขึ้นพักด้านหน้าก่อน 3 ขั้นแล้วถึงขึ้นบันไดที่มีราวจับ ลูกกรงบันไดพิมพ์หล่อปูนเว้นช่องห่าง บริเวณชานพักมีประตูเข้าหน้าบ้าน 1 ชุด เป็นประตูบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ เหนือประตูมีช่องแสงตาตารางติดกระจกสี เหนือประตูและหน้าต่างมีคิ้วบัวปูนปั้น มุมบ้านทั้ง 4 ด้านหลังคาจะเป็นหลังคาดาดคอนกรีตยื่นออกจากตัวบ้าน มีคันทวยปูนปันตกแต่งรับพื้นหลังคา หน้าต่างด้านหน้าเป็นหน้าต่างบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ มีช่องแสงติดกระจกสี มีกันสาดกันฝนยื่นออกมา 3 ชุดหน้าต่าง ส่วนหน้าต่างทั่วไป จะเป็นบานเปิดทึบลูกฟักไม้ มีช่องแสงติดกระจกสี เหนือหน้าต่างจะมีคิ้วปูนปั้นตกแต่ง ยกเว้นหน้าต่างด้านข้างติดฝั่งถนนตลาดจีน จะเป็นหน้าต่างบานกระทุ้งผสมบานลูกฟักทึบไม้

โครงสร้างชั้นบน คานไม้ ตงไม้ พิ้นไม้ ชั้นบนจะเป็นส่วนพักอาศัย ภายในด้านหน้าอาคารฝั่งติดถนนตลาดจีน จะเป็นโถงทางเดินยาวตลอดอาคาร มีโถงภายใน มีห้องนอนจำนวน 3 ห้องนอน มีห้องน้ำ-ส้วมในตัวห้องนอน 2 ห้อง มีห้องพระ 1 ห้องฝั่งทิศตะวันตกติดห้องนอน ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ มีคอสองใต้หลังคาเปิดช่องเกล็ดไม้ระบายอากาศ หน้าบันมีช่องเกล็ดไม้ระบายอากาศ 4 ช่องตัดมุม 2 ข้าง
หลังคาบ้านเป็นโครงสร้างไม้ หลังคาปั้นหยาจั่วตัดปลาย 4 มุข มีหลังคาจั่วปั้นหยาด้านทิศเหนือต่อเชื่อเป็นหลังคาจั่วออกมา หน้าบันมีช่องเกล็ดไม้ระบายอากาศ 3 ช่องแบบซุ้มโค้งด้านบน ฝ้าชายคาภายนอกอาคารเป็นไม้แผ่นตีชน มีคิ้วบัวปูนปั้นเดินเสา-คาน และผนังชนชายคา
มีบันไดขึ้นด้านหลังอีก 1 บันได เชื่อมไปยังระเบียงชานโล่งด้านบน แต่เดิมเปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม ปัจจุบันทำหลังคาคลุมขึ้นใหม่ มีห้องน้ำภายนอกตัวบ้าน ทำไว้ซักล้าง-ตากผ้า
มีอาคารโรงครัวและห้องอาหารต่อเชื่อมกับตัวบ้านออกไปอีก 1 หลัง หลังคารูปทรงจั่วตัดแบบจีน ตกแต่งเสาเหนือหลังคาและปั้นบัวหัวเสาทุกต้นและสันจั่ว
ประตูและหน้าต่างเป็นบานเปิดลูกฟักไม้ทึบมีช่องแสงประดับกระจกสี

พื้นที่โดยรอบอาคาร รั้วด้านหน้าติดถนนตลาดจีน แต่เดิมเป็นรั้วไม้ มีประตูไม้เข้าบ้าน 2 ประตู ปัจจุบันเป็นเสาปูนผนังด้านล่างก่ออิฐฉาบเรียบ รั้วเป็นรั้วไม้ จุดเด่นของรั้วที่สะดุดตาคือ ปลูกต้นพวงแสดตลอดแนวรั้วไม้ ยามเมื่อออกดอกรั้วจะเต็มไปด้วยดอกไม้สีแสด สวยงามอร่ามตามาก มีประตูเข้าด้านหลังบ้านยังคงเป็นไม้อยู่ ประตูเข้าหน้าบ้านเป็นประตูเหล็กดัดโปร่ง ทางเข้าด้านหน้าเป็นพื้นปูบล๊อคประดับเข้าไปถึงที่จอดรถด้านหลังบ้าน ส่วนของหน้าบ้านเป็นสนามหญ้าและศาลานั่งเล่น ปลูกไม้พุ่มคลุมดินและต้นมะม่วง ต้นทับทิมข้างแนวรั้ว ข้างบ้านด้านทิศเหนือเป็นโรงจอดรถ 3 หลัง มีอาคารห้องเครื่องปั๊มน้ำและหอถังสูง ค.ส.ล.เก็บน้ำ หน้าบ้านจะมีซุ้มกล้วยไม้และซุ้มดอกพวงแสด
หลังบ้านบริเวณปากประตูทางเข้า ก็มีซุ้มระแนงไม้เลื้อยพวงแสดเหมือนกัน ใต้ซุ้มตั้งโต๊ะหินสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน เช่นกัน
ถัดไปจะมีเรือนพักผ่อนหลังบ้าน ชั้นเดียวอีก 1 หลัง หลังคาทรงจัว

นับได้ว่าบ้านคมสันหลังนี้เป็นบ้านหลังใหญ่โตหลังหนึ่งที่มีกลิ่นอายแบบยุโรป และมีเรื่องเก่าเล่าขานตำนานเมืองลำปาง ควรค่าของการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป

ตั้งอยู่บนถนนตลาดจีน ( กาดกองต้า )











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น