วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

" อาคารหม่องโง่ยซิ่น " ผู้สร้างชื่อหม่องโง่ยซิ่น คหบดีชาวพม่า

 " อาคารหม่องโง่ยซิ่น " ผู้สร้างชื่อหม่องโง่ยซิ่น คหบดีชาวพม่า

เป็นบุตรชายหม่องส่วยอัตถ์ คหบดีชาวพม่า เฮดแมนคนแรกของบริษัททำไม้ในลำปาง ( หม่องส่วยอัตถ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2445 สมรสกับแม่เฒ่าหวาน )
มีบุตรและธิดา 3 คน คือ
1.หม่องโง่ยซิ่น สุวรรณอัตถ์ ( เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2480 )
สมรสกับนางบุญเป็ง ( สุวรรณอัตถ์ ) มีบุตรชื่อ คุณบุญเจริญ สุวรรณอัตถ์
คุณบุญเจริญ สุวรรณอัตถ์ มีบุตรชื่อคุณบุญสม สุวรรณอัตถ์ - คุณศรีรัตน์ ( สุวรรณอัตถ์ ) มีบุตรชื่อคุณนพรัตน์ สุวรรณอัตถ์
(ตระกูลสุวรรณอัตถ์เป็นเจ้าของอาคารและที่ดินในปัจจุบัน )
2.นางส่า สุวรรณอัตถ์ สมรสกับหม่องโพมิน วงค์พรหมมินทร์
3.นางเอเหม่ สุวรรณอัตถ์ สมรสกับหม่องบ๊ะติ่น วงค์พรหมมินทร์

หม่องโง่ยซิ่น ติดตามบิดาหม่องส่วยอัตถ์ เข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ในลำปาง ซึ่งก็คือต้นตระกูลสุวรรณอัตถ์ ผู้ร่ำรวยจากการค้าไม้สักนั้นเอง ได้เข้ามาทำไม้ในฐานะเป็นคนบังคับของอังกฤษและทำงานในนามของบริษัท Bombay-Burma ที่ได้สัมปทานป่าไม้ใน จ.ลำปาง อีกทั้งยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่ที่ดูแลคนในบังคับอังกฤษทั้งหมดที่อยู่ที่นี่ หรือที่เรียกว่า “กัปปิตัน” ซึ่งในอดีตพื้นที่ในลำปางจะมีชาวยุโรปมาอาศัยอยู่มาก เช่น จากฮอลันดา อังกฤษ ทำให้นอกจากจะดูแลกิจการค้าไม้แล้ว ก็ยังทำการค้ากับคนต่างชาติด้วย กล่าวคือ สินค้าทั้งหมดตั้งแต่ปูนซีเมนต์ เหล็ก หิน เครื่องบริโภคที่เป็นของยุโรปนั้น หม่องโง่ยซิ่นจะเป็นตัวแทนผู้ค้าขาย บริเวณหลังบ้านหม่องโง่ยซิ่น ในอดีตเป็นท่าเรือ เพื่อขนส่งไม้ ข้างล่างเป็นโกดังเก็บไม้ บ้านหลังนี้จึงเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงานที่ทำการค้าด้วย

หม่องโง่ยซิ่น ได้ทำคุณประโยชน์ต่อเมืองลำปางที่สำคัญ 2 เรื่องคือ
1. ร่วมสร้างวัดพม่า ชื่อ วัดจองคา หรือ วัดไชยมงคล ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับร้านหนังสือดวงกมล
2. สร้างอาคารเรียนหลังแรกให้กับ โรงเรียนลำปางกัลยณี ในปีพศ. 2458 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มี 3 ห้องเรียน บนที่ดิน1ไร่เศษ ซึ่ง เจ้าราชวงค์ แก้ว ภาพเมรุ ณ ลำปาง อุทิศให้ ปัจจุบันปรับปรุงเป็นบ้านพักคณาจารย์ของโรงเรียนฯ อยู่ตรงข้ามกับวัดปงสนุกเหนือ

อาคารหม่องโง่ยซิ่น สร้างในปี พ.ศ.2451 ( สร้างก่อนสะพานรัษฏาภิเศก ) อายุอาคาร​ได้​ 111 ปี​ โดยใช้ช่างจากพม่าเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างรังสรรค์ความงามพลิ้วไหวในงานไม้ โดดเด่นที่สุดในแถบนี้
เป็นอาคารพาณิชย์และพักอาศัย รูปแบบเรือนขนมปังขิงทรงมะนิลา ครึ่งตึกครึ่งไม้ สูง 3 ชั้น จำนวน 5 คูหา ทาสีขาว หลังคาจั่วปั้นหยาและปั้นหยา
ช้นล่างเป็นส่วนของสำนักงานและทำการค้า ด้านหน้าจะเป็นเฉลียงทางเข้าอาคารตลอดแนวทั้ง 5 คูหา มีเสาไม้จำนวน 4 ต้น รับระเบียงและส่วนยื่นอาคารชั้น 2 มีประตูลูกฟักไม้บานเฟี้ยม เหนือประตูจะเป็นช่องระบายอากาศไม้โค้งครึ่งวงกลมรูปแสงตะวันส่องรัศมีประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย เป็นลายพรรณพฤกษา ลายก้านขด แบบปราณีตมาก ด้านในปรุงแต่งด้วยกระจกสี จำนวน 5 ชุด เหนือขึ้นไปจะเป็นปูนปั้นโค้ง 3 แถบแทนสัญลักษณ์หงอนนกยูง ปัจจุบันจะมีป้ายชื่ออาคารและตราสัญลักษณ์ติดผนังปูนข้างฝั่งด้านซ้ายมือของอาคาร ซึ่งทำขึ้นมาใหม่ มีบัวปูนปั้นปิดฐานเสามุมเสาอาคารด้านหน้าซ้ายและขวา หน้าต่างเป็นบานไม้ทึบ เหนือหน้าต่างเป็นกันสาด ค.ส.ล.กันฝน มีคันทวยรับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ผนังด้านข้างจะมีคิ้วบัวแบบฝรั่งตกแต่งอยู่ ด้านหลังจะเป็นส่วนของห้องน้ำและห้องครัว มีประตูบานทึบไม้ออกไปสู่ภายนอก 3 ชุด หน้าต่าง 2 ชุด ปัจจุบันก่อปูนปิดทึบประตูเดิมไว้ 1 ชุดมีหน้าต่างช่องเล็ก 1 ช่อง หน้าต่างเดิม 1 ชุดถูกก่อปิดด้วยปูน ชั้นบนเป็นระเบียงมีราวปูนปั้นเจาะช่องโล่งเว้นห่าง สำหรับนั่งบัญชาการขนส่งไม้ลงท่าเรือ สภาพปัจจุบันเริ่มชำรุดเสียหาย พื้นที่ด้านหลังเป็นลานโล่งใช้สำหรับพื้นที่จอดรถยนต์ มีต้นไม้ใหญ่อยู่ 1 ต้น

ชั้น 2 เป็นส่วนของพักอาศัย ด้านหน้าอาคารจะเป็นระเบียงยื่นออกมา 3 คูหา ราวกันตกระเบียงและแผงไม้กันแดดฝน จะเป็นลายฉลุไม้ ( Framework ) พรรณพฤกษา ลายก้านขด ลายประดิษฐ์ ทาสีขาว มีประตูไม้บานทึบ 3 ชุดเหมือนชั้นล่าง ปีกซ้ายและขวาของอาคารด้านหน้าจะเป็นห้องพัก มีหน้าต่างทรงสูงส่วนบนเป็นบานกระทุ้งข้างละชุด ด้านซ้ายมือของอาคารจะมีระบียงยื่นออกไป 2 ห้อง ประดับตกแต่งลวยลายไม้แบบขนมปังขิง มีเสาไม้กลึงกลมรับหลังคาคลุมปาดเหลี่ยมเข้ามุม 2 ด้าน หลังอาคารจะมีประตูไม้บานทึบเปิดออกสู่ระเบียง 3 ชุด เหนือประตูเป็นช่องแสงติดกระจกสี และมีหน้าต่างด้านข้างฝั่งละชุด ผนังด้านบนรอบอาคารติดชายคาตกแต่งด้วยลายปูนปั้นประดับแบบลวดลายผ้าจีบมีพู่ห้อยดอกไม้

ชั้น 3 จะเป็นห้องพระ การขึ้นไปยังห้องพระจะขึ้นไปถึงได้โดยใช้บันไดลับที่ซ่อนอยู่ในตู้แบบบิลด์อินบนชั้นสอง ฝ้าเพดานบุด้วยแผ่นดีบุกดุนลายเหมือนอย่างวัดในพม่า ห้องพระยื่นออกมาจากส่วนหลังคาปั้นหยา เสาห้องเป็นเสาไม้กลึงกลมผนังห้องเป็นผนังไม้ มีประตูเปิดออกสู่ระเบียงด้านหน้า มีช่องแสงรูปโค้งแบบผ้าม่านประดับด้วยกระจกสี ระเบียงไม้ฉลุลายตกแต่งด้วยตัวอักษรอังกฤษ Moung ngwe zin ติดอยู่ที่ระเบียงไม้ด้านหน้า
หลังคามีจั่วด้านหน้า 3 จั่ว จะมีลวดลายไม้ฉลุลายแบบพริ้วไหวต่อจากไม้ปั้นลม หน้าจั่วมีไม้สะระไนแบบมีมงกุฎตกแต่งประดับลวดลายอยู่ 2 จั่ว แต่แตกหักเสียหายไปข้างละอัน จั่วหลังคาบนสุดมีไม้กลึงกลมมียอดแหลมประดับเหนือปั้นลมเพื่อป้องกันนกขึ้นไปจับถ่ายมูล หน้าบันจั่วเป็นรูปลายสัตว์ประจำปีเกิดของเจ้าของอาคารและลายสัญลักษณ์ที่หน้าบันจั่วประดับตกแต่งแทบทุกส่วนของอาคาร ดูหรูหรา สวยงามประณีตอย่างมาก

อาคารหม่องโง่ยซิ่น ในยุคของ นายบุญเจริญ สุวรรณอัตถ์ บุตรชาย ดัดแปลงเป็น โรงแรม เป็นไนท์คลับ จากนั้นก็ได้ปรับปรุงเป็น ห้องเช่าราคาถูกให้กับ พ่อค้าแม่ค้า ในตลาด จนประมาณปี 2509 ก็ปิดการกิจการลง ปิดเงียบมาจนถึงปี 2554 เป็นเวลากว่า 45 ปี แต่ก็จัดเป็นที่อยู่อาศัยของคุณสำรวย เพียงบางส่วนเท่านั้น
อาคารหม่องโง่ยซิ่น ได้รับการบูรณะ 2 ครั้ง คือ
เมื่อปี พ.ศ. 2537 ใช้งบประมาณ 270,000 บาท
และ ปี พ.ศ. 2547 ใช้งบประมาณ 300,000 บาท

ปัจจุบันมีผู้ดูแลบ้านเพียงคนเดียว คือ คุณสำรวย สะใภ้ของบ้าน
หม่องโง่ยซิ่น ลูกหลานที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงย้ายไปอยู่ที่ประเทศแคนนาดา จะกลับมาเยี่ยมปีละครั้ง ในอดีตบ้านหลังนี้ไม่เปิดให้เข้าชม แต่ภายหลังมีการฟื้นฟูชุมชนกาดกองต้าขึ้นมาจึงได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม โดยภายในบ้านชั้นล่างเป็นร้านขายกาแฟ-ขนมและจำหน่ายของที่ระลึก มีแกลลอรี่นิทรรศการเล็กๆ ที่บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาและรายละเอียดต่างๆ ของอาคารเก่าที่มีอยู่ในชุมชนบริเวณกาดกองต้าทั้งหมด สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าไปชมบรรยากาศของอาคาร ได้เข้ามาแวะพัก และชื่นชมความสวยงามของบ้านที่มีประวัติเล่าขานตำนานเมืองลำปาง ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป

อาคารหลังนี้ถูกยกย่องจากนักเขียนศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ นามว่า น. ณ ปากน้ำ ให้เป็นอาคารขนมปังขิงริมถนนที่งดงามที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา จากกรรมาธิการล้านนา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

อาคารหม่องโง่ยซิ่น ตั้งอยู่บนถนนตลาดจีน ( กาดกองต้าลำปาง )












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น