บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังสวยที่คุณเห็นอยู่นี้คือ ‘บ้านหลุยส์’ คฤหาสน์อายุกว่า 112 ปีในจังหวัดลำปางที่เคยเป็นบ้านของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ นามว่า หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์
ใช่แล้ว-นี่คือบ้านของลูกชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บ้านหลุยส์คือหนึ่งในเหล่าบ้านโบราณจากยุคลำปางรุ่งเรืองเพราะมีการทำสัมปทานป่าไม้ ในมุมหนึ่ง บ้านของเศรษฐีเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเหล่านี้คือมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ย่อมเปลี่ยนไป ลำปางพ้นยุคเฟื่องฟู ลูกหลานส่วนใหญ่ย้ายไปหางานทำและอาศัยที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ บ้านเก่าเหล่านี้จึงถูกทิ้งให้รกร้าง และเมื่อไม่มีแผนจะกลับมาตั้งรกรากที่บ้านเกิด เจ้าของยุคปัจจุบันก็พร้อมจะขายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านโบราณสู่เจ้าของใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าพร้อมจะรื้อบ้านเหล่านี้ทิ้งเพื่อนำที่ดินไปใช้
แต่ก่อนที่บ้านโบราณในลำปางจะสูญหายไปหมด ‘เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า’ ก็ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาคือกลุ่มคนจากหลากหลายอาชีพที่หลงใหลและตั้งใจจะอนุรักษ์บ้านเก่า หากไม่ใช่ด้วยวิธีไปหากฎหมายมาคุ้มครองซึ่งดูเป็นการบังคับ หรือการไปบอกให้คนช่วยเก็บรักษาบ้านเก่าไว้ซึ่งดูไม่ยุติธรรม เพราะเจ้าของบ้านยุคนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แถมค่าใช้จ่ายในการดูแลก็สูง
คนรักบ้านเก่ากลุ่มนี้มองว่าอยากสร้าง ‘แรงจูงใจ’ หรือการลองมองหาวิธีเก็บรักษาบ้านเก่าโดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
แล้วหลังการลงพื้นที่สำรวจ พวกเขาก็ตกลงใจเลือกบ้านของลูกชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ในชุมชนท่ามะโอของลำปาง ซึ่งตอนนี้เป็นขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นห้องทดลองทางแก้ปัญหา
“บ้านหลุยส์มีประวัติศาสตร์น่าสนใจ ตัวบ้านในแง่สถาปัตยกรรมถือว่าสวย ลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร ออกแบบได้ดี และเป็นบ้านที่มีบริเวณที่เหมาะสม” อุดมสิน หาญเมธี นักออกแบบกราฟิกหนุ่ม หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่าอธิบายเหตุผล
แนวคิดที่คิดไว้ถูกนำมาทำให้เป็นรูปธรรม โดยบ้านโบราณหลังนี้จะไม่ใช่เพียงถูกบูรณะ แต่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชน
“ถ้ามีบ้านเก่า สิ่งที่เราต้องทำคือคิดว่าเขาเหมาะจะเป็นอะไร อย่างบ้านหลุยส์อาจไม่เหมาะจะเป็นโฮมสเตย์ เพราะว่าตัวบ้านมีคุณค่า มันเลยอาจเหมาะกับการเป็นที่ที่คนมาแวะ ดึงคนให้มาเที่ยว” อุดมสินกล่าว
กระบวนการแปลงร่างบ้านหลังนี้เริ่มต้นขึ้น โดยทางเครือข่ายฯ ไปล้อมวงคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ถึงสมัยที่นายห้างหลุยส์ยังมีชีวิตเพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจน หลังจากนั้นก็เริ่มปรับแต่งสถานที่ ส่วนโครงสร้างไม่ได้มีการบูรณะใหญ่โต เพราะบ้านหลุยส์ถือว่ายังค่อนข้างอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่มีการปรับใช้ทางเข้าของบ้าน จากเดิมที่ให้เข้าทางด้านข้าง ก็เปลี่ยนไปเข้าทางด้านหน้าเพื่อความสวยงาม ส่วนนอกบ้านมีการใช้ซุงและนำรถยนต์โบราณมาเสริมเติมแต่ง คงบรรยากาศห้างค้าไม้เมื่อร้อยกว่าปีให้มากที่สุด
และแน่นอนว่า นอกจากตัวสถาปัตยกรรมแล้ว เรื่องราวของบ้านหลุยส์คือจุดเด่นสำคัญที่ทำให้บ้านโบราณหลังนี้มีเสน่ห์ จึงมีการจัดบอร์ดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวในวันวานของบ้านให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม
มากไปกว่านั้น ยังมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่รอบบ้านซึ่งเชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนท่ามะโอ โดยทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน บ้านหลุยส์หลังนี้จะมีงาน ‘ท่ามะโอ เรโทร แฟร์’ ซึ่งแทบทั้งหมดจัดขึ้นโดยชาวท่ามะโอเอง มีกิจกรรมละลานตา ตั้งแต่กาดมะโอมาร์เก็ตขายสินค้าจากชุมชน ลานเด็กยิ้มลานไก่เขี่ย (กิจกรรมเสิรมความรู้ อ่าน เขียน เรียน เล่น) สตรีทอาร์ต และการแสดงมากมาย รวมถึงในครั้งที่ 1 มีการชักชวนศิลปินมาถ่ายภาพและวาดภาพบ้านหลุยส์ ก่อนจะนำมาจัดแสดงเคียงคู่ไว้กับบอร์ดนิทรรศการที่โถงชั้นล่างของบ้าน
การคืนชีวิตให้บ้านหลุยส์ของเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่าประสบผลสำเร็จด้วยดี นักท่องเที่ยวทั้งจากในพื้นที่และต่างจังหวัดต่างพากันแวะเวียนมาและได้เรียนรู้จักอีกมุมของเมืองลำปาง ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนก็มีรายได้และเห็นคุณค่าในเหล่าบ้านโบราณหลังเก่าซึ่งเคยถูกมองว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้อีกต่อไป
บ้านหลุยส์ที่กลับมาเปล่งประกายสง่างามในวันนี้จึงถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ทางแก้ปัญหาของกลุ่มคนผู้หลงรักบ้านเก่าของลำปางนี้ใช้ได้จริง
“บ้านเก่าต้องมีประโยชน์กับคนที่ยังอยู่ด้วย คนที่ยังอยู่ไม่ได้หมายถึงแค่เจ้าของบ้าน แต่หมายถึงคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน นักท่องเที่ยว คนในประเทศนี้หรือนอกประเทศที่เขาเดินทางมา” อุดมสินย้ำกับเราอีกครั้ง
Writer
กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น