วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

บ้านเสานัก (Baan Sao Nak)








บ้านเสานัก (Baan Sao Nak) 
หรือในภาษาเหนือเรียกว่า “บ้านที่มีเสาจำนวนมาก” 
เนื่องจากลักษณะโครงสร้างของบ้านหลักนี้ประกอบไปด้วยเสาไม้สักแท้จำนวนทั้งหมด 116 ต้น แข็งแรงทนทานมีอายุมากกว่า 100 ปี โดยสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ 2438 โดยหม่องจันโอง ชาวพม่า ที่ออกแบบการเรือนไทยหลักนี้เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนาดั้งเดิม โครงสร้างบ้านทั้งหลังจึงประกอบไม้สักแท้ มีระเบียงรอบบ้านโอบร้อมเรือนขนาดใหญ่ พร้อมยกพื้นสูงตามแบบฉบับบ้านเรือนไทยโบราณ ภายในประดับตบแต่งสวยงามด้วยลวดลายฉลุของฝ้าและผนังแบบศิลปะล้านนาไทยพื้นบ้าน ซึ่งในอดีตบ้านหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พำนักของแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมเยียนเมืองลำปาง โดยปัจจุบันบ้านหลังนี้ถูกส่งต่อมายังทายาทคนปัจจุบัน ซึ่งตัดสินใจบรูณะบ้านให้แข็งแรงมากขึ้นพร้อมเปิดบ้านเสานักแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรมโบราณของเมืองลำปาง ซึ่งภายในบ้านจัดแสดงเครื่องใช้โบราณหาดูได้ยากและเป็นมรดกตกทอดของแผ่นดิน เช่น แหย่งช้างของเจ้าหลวงลำปาง หีบโบราณ กำปั่นเหล็ก เครื่องเขิน เครื่องเงิน เป็นต้น และนอกจากความสวยงามของตัวเรือนบ้านเสานักแห่งนี้แล้ว บริเวณรอบบ้านยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียวขจี และมีต้นสาภีอายุกว่า 130 ปี ตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ลานกว้างหน้าบ้านส่วนนี้ ได้เปิดให้บริการจัดงานเลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมืองสำคัญ พร้อมจัดงานเลี้ยง งานแต่งงานแบบไทยล้านนาดั้งเดิมที่สวยงาม มีเสน่ห์และมีมนต์ขลัง ในส่วนการจัดงานแต่งงานนั้น บ้านเสานักเปิดให้บริการอย่างครบวงจรทั้งการตกแต่งสถานที่แบบไทยล้านนาดั้งเดิม เตรียมอุปกรณ์สำคัญในพิธี เช่น พิธีสงฆ์ พิธีหมั้น พิธีผูกข้อมือแบบล้านนาน พร้อมจัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสในบรรยากาศล้านนาอันแสนอบอุ่น เริ่มต้นแพ็คเกจในราคาย่อมเยาว์เพียง 270,000 บาทเท่านั้น ซึ่งคู่รักสามารถวางใจการดูแลจากทีมงานมืออาชีพและโสตทัศนูปกรณ์แบบครบวงจร อย่างไรก็ตาม คู่รักสามารถจ้างจ้างออแกไนซ์เพื่อดำเนินการตบแต่งในแบบต่างๆ ที่ต้องการได้เพิ่มเติม โดยทางบ้านเสานักมีทีมงานคอยวางแผน ประสานงาน ที่ต้องการได้เพิ่มเติม โดยทางบ้านเสานักมีทีมงานคอยวางแผน ประสานงาน เตรียมงานและดำเนินการร่วมกับออแกไนซ์ที่คุณเลือกอย่างดีที่สุดในทุกขั้นตอน เพื่อให้งานแต่งงานของคุณถูกจัดออกมาได้สมบูรณ์แบบในสไตล์ล้านนาโบราณ ควรค่าแก่ความทรงจำที่ดีที่สุด ห้องจัดเลี้ยง บ้านเสานัก เป็นบ้านล้านนาโบราณขนาดใหญ่มีตัวเรือนเชื่อมต่อกัน 2 หลัง พร้อมด้วยบริเวณอาณาเขตกว้างขวาง ร่มรื่นและสวยงามด้วยต้นไม้น้อยใหญ่รายล้อมพื้นที่ พร้อมมีสถานที่จัดเลี้ยงและจัดงานแต่งงานให้เลือก 2 สถานที่ ดังนี้ พื้นที่บริเวณสนามหญ้า ณ ลานกว้างด้านหน้าเรือน เป็นสถานที่ขนาดใหญ่รองรับจำนวนแขกได้มากถึง 500 ท่าน เหมาะสำหรับจัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส พร้อมประดับตบแต่งในสไตล์ล้านนานได้อย่างสวยงาม และมีเสน่ห์ สถานที่จัดงานใต้ถุนบ้าน เป็นสถานที่กึ่ง Outdoor และ Indoor มีพื้นที่กว้างขวาง เย็นสบายด้วยพื้นที่กันแดดจากตัวเรือนด้านบน เหมาะสำหรับจัดงานพิธีในช่วงเช้า เช่น พิธีสงฆ์ พิธีหมั้น พิธีผูกข้อมือ และพิธีรดน้ำสังข์ สามารถรองรับแขกได้ประมาณ 200 ท่าน อาหาร บ้านเสานัก มีแพ็คเกจสำหรับจัดงานเลี้ยงที่ครบวงจร รองรับได้ทั้งการจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์หรือขันโตก ด้วยเมนูอาหารพื้นเมืองชาวล้านนา โดยเมนูอาหารทุกจานผ่านการคัดเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นที่ได้คุณภาพ และปรุงรสด้วยแม่ครัวที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน สิ่งอำนวยความสะดวก อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ที่จอดรถ เวที โปรเจคเตอร์ Presentation เครื่องเสียง โต๊ะ,เก้าอี้พร้อมผ้าคลุม ห้องน้ำ


















วัดม่อนปูยักษ์

 

วัดม่อนปูยักษ์

" วัดม่อนปูยักษ์ " หรือ วัดม่อนสัณฐาน เป็นวัดที่มีรูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมสวยงามแบบศิลปะพม่า จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่าชาติ เข้าชมความงดงามของวัดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก
ความเป็นมาของวัด สร้างจากพระธุดงค์ชาวพม่า ลักษณะที่ตั้งวัดอยู่บนเนินเขา สูงชันจึงเรียกว่า”ม่อน” ตามภาษาพม่า และเจ้าอาวาสเป็นชาวพม่าที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนธรรมดา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ม่อนปู่ยักษ์”

วัดม่อนปู่ยักษ์ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา มีอาคารหลัก 3 หลัง คือ พระวิหารและพระธาตุเจดีย์ , อุโบสถก่ออิฐถือปูน , กุฏิไม้ เป็นศิลปะพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะประยุกต์แบบตะวันตก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5
ประวัติเรื่องเล่าแต่เดิม เมื่อสมัยพุทธกาลครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมพระอรหันต์ เผยแพร่พุทธศาสนามาทางทิศบูรพา ผ่านมาปรากฎว่ามียักษ์ตนหนึ่งเข้ามาขัดขวางและขับไล่พระองค์ จากในป่าบ้านพระบาท จนถึงป่าม่อนจำศีล และได้มาทันกัน ณ วัดม่อนจำศีล พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ยักษ์ตนนี้ควรจะหยุดการกระทำดังกล่าวได้แล้ว จึงให้ยักษ์เข้าเฝ้าและฟังธรรมจากพระองค์ เมื่อยักษ์ฟังธรรมแล้วก็ได้ก้มกราบพระบาทด้วยความเลื่อมใส และขอบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ ณ วัดม่อนจำศีลเรื่อยมา ต่อมายักษ์ตนนี้ได้มาตายลงที่ม่อนปู่ยักษ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดม่อนจำศีลมากนัก ในเวลาต่อมาได้มีผู้พบเห็นรอยพระพุทธบาท และรอยเท้ายักษ์บริเวณม่อนเขา ดังนั้นชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างเจดีย์และวิหารคอบรอยพระพุทธบาท โดยสร้างอาคารยกพื้นสูงขึ้นจากดินเดิม เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปตลอดมา

ตามประวัติบันทึกไว้ว่า วัดได้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2442 โดยจองนันตาน้อย จองนันตาไก่ พร้อมพี่น้องอีก 4 คน คือ จองนันติ จองวิชชะ จองปัญจุม และจองนันต๊ะ ซึ่งเป็นคหบดีพ่อค้าไม้ชาวพม่า มีฐานะร่ำรวย ได้มาช่วยกันสร้าง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 14.82 เมตร ยาว 14.82 เมตร ( วิสุงคามสีมา คือ ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ ) อาคารเสนาสนะประกอบด้วย พระวิหารและพระธาตุเจดีย์ อุโบสถ ได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตก ศาลาการเปรียญและกุฏิไม้โบราณศิลปะแบบพม่า 

เราไปดูส่วนของพระวิหารและพระธาตุเจดีย์กัน
พระวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนยกพื้นสูง ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก การประดับตกแต่งลวดลายประดับอาคาร การใช้ซุ้มโค้ง (Arch) แบบศิลปะตะวันตก
พระวิหารและพระเจดีย์ วางในแนวแกนหลักตะวันออก-ตะวันตก รูปแบบโคโลเนียล หลังคาทรงจั่วตัดทั้ง 2 ด้าน และโดยรอบมีซุ้มอาคารขนาดเล็กหลังคาซุ้มโค้งเรียงราย ใช้สำหรับทำวิปัสสนากรรมฐาน พระวิหารมีการประดับตกแต่งอย่างเรียบง่าย ผนังก่ออิฐถือปูนหนาหลายชั้น หน้าต่างเป็นบานเปิดไม้เหนือช่องหน้าต่างปั้นปูนเป็นทรงโค้งแต่งลายแสงตะวัน ประตูเข้าหน้าวิหารเป็นประตูบานเปิดไม้คู่ ลงรักติดทอง มีซุ้มโค้งปูนปั้นอยู่เหนือประตูยอดซุ้มโค้งมีปูนปั้นทรงปราสาทซ้อนชั้น หน้าบันจั่วทางตะวันออกปั้นประดับรูปนกยูง เป็นตัวแทนพระอาทิตย์ ทางตะวันตกปั้นประดับรูปกระต่าย เป็นตัวแทนพระจันทร์ ภายในพระวิหาร มีองค์พระประธานและพระสาวกประดิษฐานอยู่บนฐานลายปัน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สกุลช่างมัณฑเลย์

ถัดจากพระวิหารเป็นพระธาตุเจดีย์ รูปแบบศิลปะพม่าบนฐานย่อมุมประทักษิณขนาดใหญ่ พระเจดีย์มีชื่อว่า จุฬามณีสันฐาน ที่ฐานทั้งสี่ด้านมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ทุกด้านมีบันไดรูปปั้นสิงห์ เหนือซุ้มประดับปูนปั้นรูปทรงปราสาท ที่มุมฐานทั้งสี่ของเจดีย์ประดับสิงห์ปูนปั้น ตรงมุมของฐานเจดีย์ย่อมุมแต่ละชั้นมีการประดับตกแต่ง มุมชั้นล่างสุดเป็นเจดีย์องค์เล็ก ถัดไปเป็นหม้อดอกไม้ไหว นรสิงห์ และดอกบัวตูม เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังคาดด้วยลวดลายพรรณพฤกษา และรูปยักษ์ล้อมองค์ เหนือองค์ระฆังเป็นปล้องไฉน ปัทมบาท และปลี ยอดปลายบนสุดประดับฉัตร มีกำแพงแก้ว โค้งมนก่ออิฐถือปูน อยู่โดยรอบ มีบันไดลง 3 ด้าน ด้านทิศใต้ มีรูปประติมากรรมยักษ์เฝ้าด้านหน้าบันได อยู่ 2 ตน

อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสูง หลังคาจั่ว 4 ด้านมีหลังคาทรงปั้นหยาตรงกลาง ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ( ทางวัดเรียกว่าวิหารทรงโปรตุเกส ) ซึ่งเป็นอาคารประดับตกแต่งด้วยลายไม้แกะสลัก และลายปูนปั้นประดับกระจก ปิดทอง

กุฏิไม้ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศใต้เป็นกุฏิไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงแบบศิลปะพม่า มีลักษณะเป็นเรือนเครื่องไม้ เสาและหลังคาทำด้วยไม้ หลังคาตัวเรือนใหญ่ เป็นหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีหลังคาจั่วคลุมบันไดทางขึ้น บริเวณชานพัก มีซุ้มหลังคาคลุมเป็นมณฑป บันไดทางขึ้นเป็นปูน ตกแต่งไม้แกะสลัก มีระเบียงทางเดินด้านหน้าฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตก มีประตูไม้บานเฟี้ยมเปิดเข้าไป ภายในประกอบด้วยพื้นที่โถงโล่งกลาง มีงานจิตรกรรม ประดับอยู่ระหว่างช่วงเสาตอนบน เดิมมีภาพวาดอยู่โดยรอบ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ภาพในสภาพชำรุดลบเลือนตามกาลเวลา สันนิษฐานว่าเป็นภาพที่นำเข้ามาจากประเทศพม่า ถัดไปด้านในมีพื้นยกสูงสำหรับที่นั่งของพระสงฆ์ ถัดไปอีกชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธาน 3 องค์ ส่วนห้องด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ใช้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ผนังและฝ้าเพดานทำด้วยไม้ ตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรลงรักติดทอง

วัดม่อนปู่ยักษ์ ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านป่าขาม 2 ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง

















คุ้มเจ้าบุ ณ ลำปาง

 #คุ้มเจ้าบุ ณ ลำปาง 

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ก่อนที่จะเล่าลักษณะของคุ้ม เรามาดูลำดับต้นสายตระกูลก่อนที่จะมาเป็นคุ้มเจ้าบุ ก่อนอื่นเริ่มต้นจาก

พ่อเจ้าทิพย์ช้าง กับเจ้าแม่ปิมปา มีโอรสและธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
1.เจ้าอ้าย 
2.เจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
3.เจ้าหญิงคำทิพ
4.เจ้าหญิงคำปา
5.เจ้าชายพ่อเรือน เจ้าราชบิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 เจ้าบุรีรัตน์ ( น้อยกาวิละ ) และเจ้าราชวงศ์ ( คำมูล )
6. เจ้าหญิงกม ( กมลา )

เจ้าอ้าย มีโอรสพระนามชื่อ เจ้าชายแก้วหรือเจ้าฟ้าไชยแก้ว กับเจ้าแม่จันทา
มีโอรสและธิดา 10 พระองค์ เชื้อเจ็ดตน และ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ ( องค์ที่ 3-10 จะไม่กล่าวถึง )
องค์ที่ 1 เจ้ากาวีละ ( พระยากาวีละ ) พระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 1
องค์ที่ 2 เจ้าคำโสม ( พระยาคำโสม ) พระยานครลำปาง องค์ที่ 4 
มีโอรสและธิดา 12 พระองค์ ( จะกล่าวเพียงองค์ที่ 6 เท่านั้น )
มีโอรสพระนามชื่อ เจ้าวรญาณรังสี เป็นองค์ที่ 6 ( เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 9 ปี พ.ศ. 2399-2414 ) มีโอรสและธิดาอยู่ 2 พระองค์ ได้แก่
1.เจ้าหญิงสุยคำ ณ ลำปาง
2.เจ้านรนันทไชยชวลิต ณ ลำปาง ( เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 12 ปี พ.ศ. 2435-2438 ) มีโอรสพระนามชื่อเจ้าพ่อบุญวาทย์วงศ์มานิต ณ ลำปาง องค์ที่ 3 ในจำนวน 23 พระองค์ ( เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13 ปี พ.ศ. 2440-2465 ) องค์สุดท้าย

เจ้าหญิงสุยคำ ณ ลำปาง มีโอรสพระนามชื่อ เจ้าองค์ทิพย์ ณ ลำปาง สมรสกับเจ้าพ่อไชยลังกา ( เจ้าพ่อหนานปวน )
มีธิดานามชื่อเจ้าแม่บุ ณ ลำปาง (ทาปลูก) สมรสกับ เจ้าหนานสม ทาปลูก
เจ้าแม่บุ ณ ลำปาง ( ทาปลูก ) เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2442 ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2513
มีบุตรธิดาจำนวน 6 คน ได้แก่
1.คุณสร้อยแก้ว โพติ๊ดพันธุ์ (ทาปลูก) ( ถึงแก่กรรม )
2.คุณสร้อยคำ ศรีบุญเรือง (ทาปลูก) ( ถึงแก่กรรม )
3.คุณเสน่ห์ ทาปลูก ( ถึงแก่กรรม )
4.คุณบุญนาค ทาปลูก
5.คุณกาญจนา ณ ลำปาง (ทาปลูก)
6.คุณธิรา นิวัติศิลป์ (ทาปลูก)

คุณสร้อยคำ ศรีบุญเรือง (ทาปลูก) สมรสกับเจ้าปรีชา วรรชัยชาญคดี ( บุตรของเจ้าพ่อขุนวรรณ กับเจ้าแม่ปี่ วรรชัยชาญคดี )
สมรสอีกครั้งกับคุณพ่อจู ศรีบุญเรือง ( ปัจจุบันมีอายุได้ 97 ปี )
มีบุตรและธิดา ได้แก่
1.คุณชัชวาล วรรชัยชาญคดี
2.คุณสุนทร ศรีบุญเรือง ( ถึงแก่กรรม )
3.คุณพรทิพย์ ศรีบุญเรือง
4.คุณนิตยา ศรีบุญเรือง ( แสงเล็ก ) 
5.คุณประภัสร์ ศรีบุญเรือง ( ถึงแก่กรรม )

คุณนิตยา(ต้อม) ศรีบุญเรือง ( แสงเล็ก ) จบ ม.ต้นจาก รร.อรุโณทัย ปี 2514 ไปต่อที่ รร.เรยีนาเชรีวิทยาลัยเชียงใหม่ จบปี 2516 จบ ป.ตรี พยาบาลศาสตร์ ที่วิทยาลัยพยาบาลพระพุทธชินราช พิษณุโลก ป.โท จาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล 
ต่ำแหน่งราชการสุดท้าย ผอ.ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง กรมอนามัย
สมรสกับคุณธราภพ (เล็ก) แสงเล็ก (เป็นบุตรของนายแมว แสงเล็ก กับนางสุพร ตันชัยสวัสดิ์ (แซ่ตั้ง) เป็นคนสบตุ๋ย ตลาดโชคชัยลำปาง ( ACLA รุ่น 14 ) จบ ด้านตกแต่งภายใน ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดูแลคุ้มเจ้าบุ ในปัจจุบัน
มีบุตรชาย 2 คนชื่อ นายธนิต แสงเล็ก และนายธนญ แสงเล็ก

#มาดูกันว่ามีอะไรบ้างในคุ้มเจ้าบุ
คุ้มเจ้าบุ ลักษณะอาคาร เป็นอาคารพักอาศํยไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาจั่วปั้นหยาและปั้นหยาจั่วตัดมุมด้านหน้า มุงด้วยกระเบื้องหางว่าว
#ชั้นล่าง บริเวณใต้ถุนประกอบด้วย เสาไม้สักจำนวนกว่า 50 ต้น แต่เดิมฝังเสาลงพื้นดิน ปัจจุบันเสริมโครงสร้างใหม่โดยทำฐานรากและเสาตอม่อ ค.ส.ล.เพื่อรับน้ำหนักของตัวเรือนใหม่ ยืดอายุการใช้งานของอาคารออกไปได้อีกนาน โคนเสาไม้ใต้ถุนเรือน จะนั่งอยู่บนเสาตอม่อคอนกรีตใหม่แบบบังใบร้อยด้วยน๊อตยึด บางต้นเทคอนกรีตหุ้มโคนเสาเพื่อกันน้ำท่วมถึงโคนเสาไม้ เทคอนกรีตพื้นใต้ถุนใหม่ ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน ที่ออกกำลังกาย โรงจอดรถ ห้องเก็บของและห้องเก็บอุปกรณ์จัดงาน โครงสร้างตัวเรือนเป็นคานไม้ ตงไม้และพื้นปูด้วยไม้ ไม่มีฝ้าเพดาน 

#ชั้นบน ด้านหน้าเรือนแต่เดิมจะมีบันไดและชานพักทำด้วยไม้เต็มช่วงเสาขึ้นด้านหน้าเรือน ปัจจุบันรื้อชานพักไม้เดิมออกแล้วทำบันไดและชานพัก ค.ส.ล.ผิวปูกระเบื้องใหม่ บันไดขึ้นด้านหน้าในส่วนที่เป็นไม้ เป็นแม่บันไดไม้ ลูกบันไดไม้และขั้นบันไดไม้ มีราวบันไดไม้ระแนงตกแต่งแบบซี่โปร่ง หน้าบันไดมีประตูบานเฟี้ยมลูกฟักไม้บานทึบมีช่องแสงติดกระจกสี ภายในจะเป็นห้องโถงรับแขก-พักผ่อน ผนังด้านหน้ามุขส่วนยื่น ด้านล่างจะเป็นผนังแบบมีหน้าต่างฝาไหลเหนือขึ้นไปเป็นผนังไม้ยึดด้วยโครงเคร่าไม้ มีหน้าต่างบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ติดกระจก (เดิมเป็นลูกฟักไม้ทึบ) ด้านหน้าเรือน 2 ชุด ด้านข้างเรือนข้างละชุด เหนือหน้าต่างจะมีช่องลมระบายอากาศไม้แป้นฉลุลวดลายทั้ง 3 ด้าน ผนังห้องด้านข้างเป็นผนังไม้ ประดับติดรูปภาพประวัติของผู้สร้างคุ้ม ฝ้าเพดานเป็นไม้ ปัจจุบันจัดวางโต๊ะทำงาน ชุดโซฟา ม้านั่งยาวและตู้โชว์โบราณ กลางเรือนจะเป็นโถงโล่ง ตกแต่งหุ้มเสาไม้ให้ใหญ่ขึ้นจำนวน 2 ต้น พร้อมตกแต่งคานรับโครงสร้างหลังคาโดยหุ้มไม้ตกแต่งคานให้ใหญ่ขึ้น ตกแต่งฝ้าเพดานเป็นยิปซั่มบอร์ดเล่นระดับ สลับฝ้าเพดานไม้อัดทาสี ทำขึ้นใหม่ ถัดไปจะเป็นมุมเคาน์เตอร์บาร์ ผนังด้านหลังมีหน้าต่างบานเปิดลูกฟักไม้ติดกระจก มีประตูเปิดบานเฟี้ยมล่างทึบด้านบนติดกระจกออกสู่ชานหลังบ้าน ฝั่งขวามือของตัวเรือน แต่เดิมจะเป็นห้องนอนจำนวน 2 ห้อง มีโถงทางเดินตรงกลาง ปัจจุบันรื้อห้องนอนด้านหน้าออก เปลี่ยนเป็นระเบียงนั่งเล่นเปิดโล่งแทน มีราวระเบียงไม้แบบโปร่งซี่ห่าง 2 ด้าน (ทำขึ้นใหม่) มีชุดโต๊ะและเก้าอี้นั่งพักผ่อนหน้าระเบียง 1 ชุด โถงทางเดินตกแต่งด้วยตู้โบราณและของใช้โบราณ ผนังไม้ประดับตกแต่งด้วยภาพเจ้าของบ้าน-ครอบครัวเครือญาติ และผังสายลำดับของตระกูล โถงทางเดินมีประตูบานเฟี้ยมไม้ทึบล่างติดกระจกส่วยบน 2 ชุด ก่อนออกสู่ระเบียงด้านหน้า มีหน้าต่างด้านข้างเรือนโถงทางเดิน 1 ชุด แต่เดิมเป็นหน้าต่างลูกฟักไม้บานทึบ ปัจจุบันทำเป็นหน้าต่างทรงสูงมีลูกฟักไม้ติดกระจกมีช่องแสงทรงเรขาคณิตและราวกันตกไม้ (ทำขึ้นใหม่) ถัดไปจะเป็นห้องนอน 1 ห้อง มีห้องน้ำ-ส้วมในตัว มีประตูเปิดออกสู่ระเบียงภายนอก มีระเบียงภายนอกทำขึ้นใหม่ ( แต่เดิมจะเป็นบันไดไม้ขึ้นข้างเรือน ปัจจุบันรื้อบันไดชุดนี้ออกแล้วนำไปติดตั้งใหม่ เป็นบันไดลงหลังเรือนแทน ) ด้านฝั่งซ้ายมือของเรือนจะมีห้องนอน 2 ห้อง มีห้องน้ำ-ส้วมในตัว (ห้องน้ำ-ส้วม ต่อเติมขึ้นใหม่เป็นโครงสร้างค.ส.ล. ภายในห้องนอนตกแต่งห้องรูปแบบสมัยใหม่ ฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด ตรงกลางระหว่างห้องนอนเป็นโถงทางเดิน มีหน้าต่างทรงสูงบานเฟี้ยมติดกระจก มีช่องแสงทรงเรขาคณิตติดกระจกสี พร้อมราวกันตกลูกกรงไม้ซี่ห่างโปร่ง ทำขึ้นใหม่ ฝ้าเพดานไม้ของเดิมทำสีใหม่หลังเรือนจะเป็นชาน ค.ส.ล. ( แต่เดิมเป็นชานไม้โครงสร้างไม้เปิดโล่ง ) ทำใหม่เป็นโครงสร้าง ค.ส.ล. ทำเป็นห้องอาหารและครัวไฟ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นห้องนอนของเจ้าของพักอาศัย) ด้านซ้ายมือด้านหลังเป็นห้องซักล้าง-ตากผ้า ชานหลังเรือนเปิดโล่งส่วนกลางไม่มีหลังคาคลุม มีบันไดไม้ลงหลังเรือน ( ย้ายบันไดไม้เดิมจากข้างเรือนมาติดตั้งใหม่ ) ทำซุ้มบันไดทางลงมีหลังคาคลุมบันได

#หลังคาเรือน เป็นโครงสร้างไม้ทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องหางว่าว ทรงจั่วปั้นหยาและปั้นหยาจั่วตัดมุมด้านหน้า มีคันทวยค้ำยันรับหลังคาด้านหน้า หน้าบันจั่วตัดด้านหน้าเป็นผนังทำด้วยไม้ บังใบไม้แนวนอน ติดตัวอักษรตัวเลขปีที่สร้าง พร้อมลวดลายประดับฉลุลวดลายไม้ 2 ข้าง มีหลังคาเพิงเอียงลาดคลุมบันไดและห้องนอนด้านหน้าเรือนอีกชั้นหนึง ใต้ชายคาคลุมบันไดประดับตกแต่งด้วยแป้มไม้ฉลุลวดลายของเดิมทำสีใหม่ ส่วนหลังคาหลังเรือนเป็นหลังคาจั่วและหลังคาเพิง มุงด้วยกระเบื้องห่างว่าว

#พื้นที่ภายนอกโดยรอบบริเวณเรือน รั้วด้านหน้าเป็นรั้วต้นไม้ปลูกต้นตีนตุ๊กแกเป็นเสารั้วและรั้วปลูกต้นดอกแก้วตลอดแนวรั้วด้านหน้า ประตูรั้วเป็นประตูไม้เปิดคู่โปร่งซี่เว้นร่อง มีเสาประตูรั้วและผนังรั้วเป็น ค.ส.ล.เพียงบางส่วนทางเข้าเท่านั้น ติดแผ่นป้ายเลขที่บ้านเซรามิคที่หน้าหัวเสา มีเสาไฟฟ้าไม้ที่หน้าคุ้ม 1 ต้น ยอดเสาประดับตกแต่งสัญลักษณ์ไก่ขาว หมุนได้ตามทิศทางกระแสลม มีป้ายแขวนไม้ไว้ที่เสาไฟฟ้า 1 ป้ายเขียนชื่อคำว่า คุ้มเจ้าบุ ด้านล่างตกแต่งด้วยซุ้มไม้เลื่อย หน้าคุ้มมีเรือนซุ้มหม้อน้ำ มีชื่อคุ้มเจ้าบุ มีหลังคาคลุมอยู่ 1 ซุ้มก่อนขึ้นบันไดเรือน หน้าเรือนปลูกต้นมะพร้าวไว้ 1 ต้น ภายในพื้นที่ด้านหน้าเรือนปลูกไม้ยืนต้น พืชคลุมดิน ถนนทางเข้าและข้างเรือนเป็นสนามหญ้า มีที่นั่งเล่นซุ้มกาละเวกข้างเรือน 1 ซุ้ม มีบ่อน้ำโบราณอยู่ 1 บ่อ ขวามือบริเวณพื้นที่ติดรั้วจะตกแต่งเป็นสระน้ำใช้เป็นสถานที่นั่งเล่นพักผ่อน จัดสวนหย่อม ถัดไปจะปลูกสร้างอาคาร ค.ส.ล.2 ชั้น 1 หลัง ใช้เป็นห้องรับประทานอาหารและมุมกาแฟ มีห้องนอนชั้นบน 1 ห้องมีห้องน้ำในตัว สร้างไว้สำหรับบริการแขกที่มาพักผ่อนท่องเที่ยว ( แต่เดิมเป็นอาคารหลองข้าวเก่า ได้รื้อถอนออกไป ) มีศาลานั่งเล่นพักผ่อนหลังอาคารอยู่ 1 หลัง หลังเรือนจะเป็นห้องน้ำ-ส้วมแยกชายและหญิง 2 หลัง มีต้นไม้ประดับตกแต่งเป็นซุ้มโค้งทำเป็นแนวรั้ว ถัดไปพื้นที่ด้านหลังจะเป็นลานโล่งมีต้นมะขามยักษ์ 2 ต้นใช้แขวนห้อยชิงช้านั่งเล่น มีสระน้ำบ่อดินแบบธรรมชาติอยู่ 2 สระ มีบ่อน้ำโบราณอยู่ข้างสระน้ำ 1 บ่อ บริเวณริมน้ำปลูกเรือนรับรองสำหรับผู้มาพักอีก 2 หลัง ซ้ายมือจะแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารเคมี ฝั่งขวามือจะมีแนวทางเดินและรั้วกั้นทำซุ้มประตูมีหลังคาคลุมออกไปพื้นที่ส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ปลูกสร้างอาคารพักอาศัยชั้นเดียว 1 หลังและมีโรงจอดรถยนต์ 1 หลัง มีประตูออกถนนด้านข้างอีก 1 ประตู ถัดไปจะเป็นพื้นที่ปลูกสวนป่า สวนกล้วยและไม้ยืนต้น มีพื้นที่รวมกันประมาณ 10 ไร่ พื้นที่ติดที่ดินฝั่งทิศใต้จะเป็นทุ่งนาข้าวเขียวขจีตลอดสายตา

#นับว่าคุ้มเจ้าบุ หลังนี้ควรค่าของการอนุรักษ์ไว้ เป็นเรือนเก่าโบราณ มีตำนานเล่าขานของเมืองลำปาง ให้ลูกหลานได้ศึกษาสืบต่อไป
จุดเด่น: เป็นคุ้มเจ้าแห่งเดียวในจังหวัดลำปาง ที่สงบ ร่มเย็นสบาย เจ้าของอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี

คุ้มเจ้าบุ มีการปรับปรุงซ่อมแซม เมื่อปีพ.ศ.2543 และเริ่มมาปลูกเรือนหลังใหม่จัดพื้นที่โดยรอบใหม่เมื่อปีพ.ศ.2553 และปีพ.ศ.2557 เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักและทำเป็นร้านอาหาร -มุมกาแฟ บรรยากาศคลาสิกมาก เปิดเพียงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น แต่ต้องโทรแจ้งและจองห้องพัก-อาหาร ก่อนล่วงหน้า ( เจ้าของบ้านเป็นเชฟทำอาหารเอง ) รับนักท่องเที่ยวที่มาพักค้างแรมได้เพียง 17 คนต่อวันเท่านั้ัน
ที่ตั้ง เลขที่ 11 หมู่ 4 บ้านป่ากล้วย ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ. ลำปาง 
จีพีเอสหาง่าย GPS N18”15.569’

#ขอขอบพระคุณ คุณนิตยา(ต้อม) คุณธราภพ(เล็ก) แสงเล็ก ที่เปิดคุ้มให้เข้าไปถ่ายภาพและซักถามประวัติข้อมูลของคุ้มเจ้าบุ ด้วยครับ