#คุ้มเจ้าบุ ณ ลำปาง
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ก่อนที่จะเล่าลักษณะของคุ้ม เรามาดูลำดับต้นสายตระกูลก่อนที่จะมาเป็นคุ้มเจ้าบุ ก่อนอื่นเริ่มต้นจาก
พ่อเจ้าทิพย์ช้าง กับเจ้าแม่ปิมปา มีโอรสและธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
1.เจ้าอ้าย
2.เจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
3.เจ้าหญิงคำทิพ
4.เจ้าหญิงคำปา
5.เจ้าชายพ่อเรือน เจ้าราชบิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 เจ้าบุรีรัตน์ ( น้อยกาวิละ ) และเจ้าราชวงศ์ ( คำมูล )
6. เจ้าหญิงกม ( กมลา )
เจ้าอ้าย มีโอรสพระนามชื่อ เจ้าชายแก้วหรือเจ้าฟ้าไชยแก้ว กับเจ้าแม่จันทา
มีโอรสและธิดา 10 พระองค์ เชื้อเจ็ดตน และ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ ( องค์ที่ 3-10 จะไม่กล่าวถึง )
องค์ที่ 1 เจ้ากาวีละ ( พระยากาวีละ ) พระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 1
องค์ที่ 2 เจ้าคำโสม ( พระยาคำโสม ) พระยานครลำปาง องค์ที่ 4
มีโอรสและธิดา 12 พระองค์ ( จะกล่าวเพียงองค์ที่ 6 เท่านั้น )
มีโอรสพระนามชื่อ เจ้าวรญาณรังสี เป็นองค์ที่ 6 ( เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 9 ปี พ.ศ. 2399-2414 ) มีโอรสและธิดาอยู่ 2 พระองค์ ได้แก่
1.เจ้าหญิงสุยคำ ณ ลำปาง
2.เจ้านรนันทไชยชวลิต ณ ลำปาง ( เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 12 ปี พ.ศ. 2435-2438 ) มีโอรสพระนามชื่อเจ้าพ่อบุญวาทย์วงศ์มานิต ณ ลำปาง องค์ที่ 3 ในจำนวน 23 พระองค์ ( เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13 ปี พ.ศ. 2440-2465 ) องค์สุดท้าย
เจ้าหญิงสุยคำ ณ ลำปาง มีโอรสพระนามชื่อ เจ้าองค์ทิพย์ ณ ลำปาง สมรสกับเจ้าพ่อไชยลังกา ( เจ้าพ่อหนานปวน )
มีธิดานามชื่อเจ้าแม่บุ ณ ลำปาง (ทาปลูก) สมรสกับ เจ้าหนานสม ทาปลูก
เจ้าแม่บุ ณ ลำปาง ( ทาปลูก ) เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2442 ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2513
มีบุตรธิดาจำนวน 6 คน ได้แก่
1.คุณสร้อยแก้ว โพติ๊ดพันธุ์ (ทาปลูก) ( ถึงแก่กรรม )
2.คุณสร้อยคำ ศรีบุญเรือง (ทาปลูก) ( ถึงแก่กรรม )
3.คุณเสน่ห์ ทาปลูก ( ถึงแก่กรรม )
4.คุณบุญนาค ทาปลูก
5.คุณกาญจนา ณ ลำปาง (ทาปลูก)
6.คุณธิรา นิวัติศิลป์ (ทาปลูก)
คุณสร้อยคำ ศรีบุญเรือง (ทาปลูก) สมรสกับเจ้าปรีชา วรรชัยชาญคดี ( บุตรของเจ้าพ่อขุนวรรณ กับเจ้าแม่ปี่ วรรชัยชาญคดี )
สมรสอีกครั้งกับคุณพ่อจู ศรีบุญเรือง ( ปัจจุบันมีอายุได้ 97 ปี )
มีบุตรและธิดา ได้แก่
1.คุณชัชวาล วรรชัยชาญคดี
2.คุณสุนทร ศรีบุญเรือง ( ถึงแก่กรรม )
3.คุณพรทิพย์ ศรีบุญเรือง
4.คุณนิตยา ศรีบุญเรือง ( แสงเล็ก )
5.คุณประภัสร์ ศรีบุญเรือง ( ถึงแก่กรรม )
คุณนิตยา(ต้อม) ศรีบุญเรือง ( แสงเล็ก ) จบ ม.ต้นจาก รร.อรุโณทัย ปี 2514 ไปต่อที่ รร.เรยีนาเชรีวิทยาลัยเชียงใหม่ จบปี 2516 จบ ป.ตรี พยาบาลศาสตร์ ที่วิทยาลัยพยาบาลพระพุทธชินราช พิษณุโลก ป.โท จาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล
ต่ำแหน่งราชการสุดท้าย ผอ.ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง กรมอนามัย
สมรสกับคุณธราภพ (เล็ก) แสงเล็ก (เป็นบุตรของนายแมว แสงเล็ก กับนางสุพร ตันชัยสวัสดิ์ (แซ่ตั้ง) เป็นคนสบตุ๋ย ตลาดโชคชัยลำปาง ( ACLA รุ่น 14 ) จบ ด้านตกแต่งภายใน ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดูแลคุ้มเจ้าบุ ในปัจจุบัน
มีบุตรชาย 2 คนชื่อ นายธนิต แสงเล็ก และนายธนญ แสงเล็ก
#มาดูกันว่ามีอะไรบ้างในคุ้มเจ้าบุ
คุ้มเจ้าบุ ลักษณะอาคาร เป็นอาคารพักอาศํยไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาจั่วปั้นหยาและปั้นหยาจั่วตัดมุมด้านหน้า มุงด้วยกระเบื้องหางว่าว
#ชั้นล่าง บริเวณใต้ถุนประกอบด้วย เสาไม้สักจำนวนกว่า 50 ต้น แต่เดิมฝังเสาลงพื้นดิน ปัจจุบันเสริมโครงสร้างใหม่โดยทำฐานรากและเสาตอม่อ ค.ส.ล.เพื่อรับน้ำหนักของตัวเรือนใหม่ ยืดอายุการใช้งานของอาคารออกไปได้อีกนาน โคนเสาไม้ใต้ถุนเรือน จะนั่งอยู่บนเสาตอม่อคอนกรีตใหม่แบบบังใบร้อยด้วยน๊อตยึด บางต้นเทคอนกรีตหุ้มโคนเสาเพื่อกันน้ำท่วมถึงโคนเสาไม้ เทคอนกรีตพื้นใต้ถุนใหม่ ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน ที่ออกกำลังกาย โรงจอดรถ ห้องเก็บของและห้องเก็บอุปกรณ์จัดงาน โครงสร้างตัวเรือนเป็นคานไม้ ตงไม้และพื้นปูด้วยไม้ ไม่มีฝ้าเพดาน
#ชั้นบน ด้านหน้าเรือนแต่เดิมจะมีบันไดและชานพักทำด้วยไม้เต็มช่วงเสาขึ้นด้านหน้าเรือน ปัจจุบันรื้อชานพักไม้เดิมออกแล้วทำบันไดและชานพัก ค.ส.ล.ผิวปูกระเบื้องใหม่ บันไดขึ้นด้านหน้าในส่วนที่เป็นไม้ เป็นแม่บันไดไม้ ลูกบันไดไม้และขั้นบันไดไม้ มีราวบันไดไม้ระแนงตกแต่งแบบซี่โปร่ง หน้าบันไดมีประตูบานเฟี้ยมลูกฟักไม้บานทึบมีช่องแสงติดกระจกสี ภายในจะเป็นห้องโถงรับแขก-พักผ่อน ผนังด้านหน้ามุขส่วนยื่น ด้านล่างจะเป็นผนังแบบมีหน้าต่างฝาไหลเหนือขึ้นไปเป็นผนังไม้ยึดด้วยโครงเคร่าไม้ มีหน้าต่างบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ติดกระจก (เดิมเป็นลูกฟักไม้ทึบ) ด้านหน้าเรือน 2 ชุด ด้านข้างเรือนข้างละชุด เหนือหน้าต่างจะมีช่องลมระบายอากาศไม้แป้นฉลุลวดลายทั้ง 3 ด้าน ผนังห้องด้านข้างเป็นผนังไม้ ประดับติดรูปภาพประวัติของผู้สร้างคุ้ม ฝ้าเพดานเป็นไม้ ปัจจุบันจัดวางโต๊ะทำงาน ชุดโซฟา ม้านั่งยาวและตู้โชว์โบราณ กลางเรือนจะเป็นโถงโล่ง ตกแต่งหุ้มเสาไม้ให้ใหญ่ขึ้นจำนวน 2 ต้น พร้อมตกแต่งคานรับโครงสร้างหลังคาโดยหุ้มไม้ตกแต่งคานให้ใหญ่ขึ้น ตกแต่งฝ้าเพดานเป็นยิปซั่มบอร์ดเล่นระดับ สลับฝ้าเพดานไม้อัดทาสี ทำขึ้นใหม่ ถัดไปจะเป็นมุมเคาน์เตอร์บาร์ ผนังด้านหลังมีหน้าต่างบานเปิดลูกฟักไม้ติดกระจก มีประตูเปิดบานเฟี้ยมล่างทึบด้านบนติดกระจกออกสู่ชานหลังบ้าน ฝั่งขวามือของตัวเรือน แต่เดิมจะเป็นห้องนอนจำนวน 2 ห้อง มีโถงทางเดินตรงกลาง ปัจจุบันรื้อห้องนอนด้านหน้าออก เปลี่ยนเป็นระเบียงนั่งเล่นเปิดโล่งแทน มีราวระเบียงไม้แบบโปร่งซี่ห่าง 2 ด้าน (ทำขึ้นใหม่) มีชุดโต๊ะและเก้าอี้นั่งพักผ่อนหน้าระเบียง 1 ชุด โถงทางเดินตกแต่งด้วยตู้โบราณและของใช้โบราณ ผนังไม้ประดับตกแต่งด้วยภาพเจ้าของบ้าน-ครอบครัวเครือญาติ และผังสายลำดับของตระกูล โถงทางเดินมีประตูบานเฟี้ยมไม้ทึบล่างติดกระจกส่วยบน 2 ชุด ก่อนออกสู่ระเบียงด้านหน้า มีหน้าต่างด้านข้างเรือนโถงทางเดิน 1 ชุด แต่เดิมเป็นหน้าต่างลูกฟักไม้บานทึบ ปัจจุบันทำเป็นหน้าต่างทรงสูงมีลูกฟักไม้ติดกระจกมีช่องแสงทรงเรขาคณิตและราวกันตกไม้ (ทำขึ้นใหม่) ถัดไปจะเป็นห้องนอน 1 ห้อง มีห้องน้ำ-ส้วมในตัว มีประตูเปิดออกสู่ระเบียงภายนอก มีระเบียงภายนอกทำขึ้นใหม่ ( แต่เดิมจะเป็นบันไดไม้ขึ้นข้างเรือน ปัจจุบันรื้อบันไดชุดนี้ออกแล้วนำไปติดตั้งใหม่ เป็นบันไดลงหลังเรือนแทน ) ด้านฝั่งซ้ายมือของเรือนจะมีห้องนอน 2 ห้อง มีห้องน้ำ-ส้วมในตัว (ห้องน้ำ-ส้วม ต่อเติมขึ้นใหม่เป็นโครงสร้างค.ส.ล. ภายในห้องนอนตกแต่งห้องรูปแบบสมัยใหม่ ฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด ตรงกลางระหว่างห้องนอนเป็นโถงทางเดิน มีหน้าต่างทรงสูงบานเฟี้ยมติดกระจก มีช่องแสงทรงเรขาคณิตติดกระจกสี พร้อมราวกันตกลูกกรงไม้ซี่ห่างโปร่ง ทำขึ้นใหม่ ฝ้าเพดานไม้ของเดิมทำสีใหม่หลังเรือนจะเป็นชาน ค.ส.ล. ( แต่เดิมเป็นชานไม้โครงสร้างไม้เปิดโล่ง ) ทำใหม่เป็นโครงสร้าง ค.ส.ล. ทำเป็นห้องอาหารและครัวไฟ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นห้องนอนของเจ้าของพักอาศัย) ด้านซ้ายมือด้านหลังเป็นห้องซักล้าง-ตากผ้า ชานหลังเรือนเปิดโล่งส่วนกลางไม่มีหลังคาคลุม มีบันไดไม้ลงหลังเรือน ( ย้ายบันไดไม้เดิมจากข้างเรือนมาติดตั้งใหม่ ) ทำซุ้มบันไดทางลงมีหลังคาคลุมบันได
#หลังคาเรือน เป็นโครงสร้างไม้ทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องหางว่าว ทรงจั่วปั้นหยาและปั้นหยาจั่วตัดมุมด้านหน้า มีคันทวยค้ำยันรับหลังคาด้านหน้า หน้าบันจั่วตัดด้านหน้าเป็นผนังทำด้วยไม้ บังใบไม้แนวนอน ติดตัวอักษรตัวเลขปีที่สร้าง พร้อมลวดลายประดับฉลุลวดลายไม้ 2 ข้าง มีหลังคาเพิงเอียงลาดคลุมบันไดและห้องนอนด้านหน้าเรือนอีกชั้นหนึง ใต้ชายคาคลุมบันไดประดับตกแต่งด้วยแป้มไม้ฉลุลวดลายของเดิมทำสีใหม่ ส่วนหลังคาหลังเรือนเป็นหลังคาจั่วและหลังคาเพิง มุงด้วยกระเบื้องห่างว่าว
#พื้นที่ภายนอกโดยรอบบริเวณเรือน รั้วด้านหน้าเป็นรั้วต้นไม้ปลูกต้นตีนตุ๊กแกเป็นเสารั้วและรั้วปลูกต้นดอกแก้วตลอดแนวรั้วด้านหน้า ประตูรั้วเป็นประตูไม้เปิดคู่โปร่งซี่เว้นร่อง มีเสาประตูรั้วและผนังรั้วเป็น ค.ส.ล.เพียงบางส่วนทางเข้าเท่านั้น ติดแผ่นป้ายเลขที่บ้านเซรามิคที่หน้าหัวเสา มีเสาไฟฟ้าไม้ที่หน้าคุ้ม 1 ต้น ยอดเสาประดับตกแต่งสัญลักษณ์ไก่ขาว หมุนได้ตามทิศทางกระแสลม มีป้ายแขวนไม้ไว้ที่เสาไฟฟ้า 1 ป้ายเขียนชื่อคำว่า คุ้มเจ้าบุ ด้านล่างตกแต่งด้วยซุ้มไม้เลื่อย หน้าคุ้มมีเรือนซุ้มหม้อน้ำ มีชื่อคุ้มเจ้าบุ มีหลังคาคลุมอยู่ 1 ซุ้มก่อนขึ้นบันไดเรือน หน้าเรือนปลูกต้นมะพร้าวไว้ 1 ต้น ภายในพื้นที่ด้านหน้าเรือนปลูกไม้ยืนต้น พืชคลุมดิน ถนนทางเข้าและข้างเรือนเป็นสนามหญ้า มีที่นั่งเล่นซุ้มกาละเวกข้างเรือน 1 ซุ้ม มีบ่อน้ำโบราณอยู่ 1 บ่อ ขวามือบริเวณพื้นที่ติดรั้วจะตกแต่งเป็นสระน้ำใช้เป็นสถานที่นั่งเล่นพักผ่อน จัดสวนหย่อม ถัดไปจะปลูกสร้างอาคาร ค.ส.ล.2 ชั้น 1 หลัง ใช้เป็นห้องรับประทานอาหารและมุมกาแฟ มีห้องนอนชั้นบน 1 ห้องมีห้องน้ำในตัว สร้างไว้สำหรับบริการแขกที่มาพักผ่อนท่องเที่ยว ( แต่เดิมเป็นอาคารหลองข้าวเก่า ได้รื้อถอนออกไป ) มีศาลานั่งเล่นพักผ่อนหลังอาคารอยู่ 1 หลัง หลังเรือนจะเป็นห้องน้ำ-ส้วมแยกชายและหญิง 2 หลัง มีต้นไม้ประดับตกแต่งเป็นซุ้มโค้งทำเป็นแนวรั้ว ถัดไปพื้นที่ด้านหลังจะเป็นลานโล่งมีต้นมะขามยักษ์ 2 ต้นใช้แขวนห้อยชิงช้านั่งเล่น มีสระน้ำบ่อดินแบบธรรมชาติอยู่ 2 สระ มีบ่อน้ำโบราณอยู่ข้างสระน้ำ 1 บ่อ บริเวณริมน้ำปลูกเรือนรับรองสำหรับผู้มาพักอีก 2 หลัง ซ้ายมือจะแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารเคมี ฝั่งขวามือจะมีแนวทางเดินและรั้วกั้นทำซุ้มประตูมีหลังคาคลุมออกไปพื้นที่ส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ปลูกสร้างอาคารพักอาศัยชั้นเดียว 1 หลังและมีโรงจอดรถยนต์ 1 หลัง มีประตูออกถนนด้านข้างอีก 1 ประตู ถัดไปจะเป็นพื้นที่ปลูกสวนป่า สวนกล้วยและไม้ยืนต้น มีพื้นที่รวมกันประมาณ 10 ไร่ พื้นที่ติดที่ดินฝั่งทิศใต้จะเป็นทุ่งนาข้าวเขียวขจีตลอดสายตา
#นับว่าคุ้มเจ้าบุ หลังนี้ควรค่าของการอนุรักษ์ไว้ เป็นเรือนเก่าโบราณ มีตำนานเล่าขานของเมืองลำปาง ให้ลูกหลานได้ศึกษาสืบต่อไป
จุดเด่น: เป็นคุ้มเจ้าแห่งเดียวในจังหวัดลำปาง ที่สงบ ร่มเย็นสบาย เจ้าของอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี
คุ้มเจ้าบุ มีการปรับปรุงซ่อมแซม เมื่อปีพ.ศ.2543 และเริ่มมาปลูกเรือนหลังใหม่จัดพื้นที่โดยรอบใหม่เมื่อปีพ.ศ.2553 และปีพ.ศ.2557 เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักและทำเป็นร้านอาหาร -มุมกาแฟ บรรยากาศคลาสิกมาก เปิดเพียงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น แต่ต้องโทรแจ้งและจองห้องพัก-อาหาร ก่อนล่วงหน้า ( เจ้าของบ้านเป็นเชฟทำอาหารเอง ) รับนักท่องเที่ยวที่มาพักค้างแรมได้เพียง 17 คนต่อวันเท่านั้ัน
ที่ตั้ง เลขที่ 11 หมู่ 4 บ้านป่ากล้วย ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ. ลำปาง
จีพีเอสหาง่าย GPS N18”15.569’
#ขอขอบพระคุณ คุณนิตยา(ต้อม) คุณธราภพ(เล็ก) แสงเล็ก ที่เปิดคุ้มให้เข้าไปถ่ายภาพและซักถามประวัติข้อมูลของคุ้มเจ้าบุ ด้วยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น